top of page
รูปภาพนักเขียนKannatee Yairaya

เงินเดือนเยอะ แต่..เงินไม่พอใช้ อาจเป็นเพราะสาเหตุนี้!


เคยสงสัยปัญหาทางเงินของตัวเองไหมว่า? รายรับ หรือ เงินเดือนที่เยอะมากพอน่าจะเลี้ยงตัวเองได้ แล้วทำไมถึงมีปัญหาการเงินขาดสภาพคล่อง ใช้เงินเดือนชนเดือนอยู่ตลอด ลองมาดูกันอาจเป็นเพราะสาเหตุนี้หรือเปล่า ?


1. การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

หลายคนมักจะตกอยู่ในวงจรของการซื้อสินค้า หรือ การบริการที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะเมื่อมีรายได้สูง อาจเกิดความรู้สึกว่า สามารถซื้อทุกอย่างที่ต้องการได้ ซึ่งอาจรวมถึงเสื้อผ้าแบรนด์เนม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นล่าสุด หรือ การรับประทานอาหารในร้านหรู ซึ่งการใช้จ่ายแบบนี้อาจทำให้เงินหมดเร็วกว่าที่คิด


2. ไม่มีการวางแผนการเงิน

การขาดการวางแผนทางการเงินที่ดีเป็นปัญหาสำคัญ หลายคนไม่ทำงบประมาณ ไม่จดรับจ่าย หรือ ไม่ติดตามค่าใช้จ่ายของตนเอง ทำให้ไม่รู้ว่าเงินหมดไปกับอะไรบ้าง การไม่มีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน อาจนำไปสู่การใช้จ่ายที่ไม่มีทิศทาง


3. หนี้สิน

ภาระหนี้สินเป็นปัจจัยหนึ่งสำคัญที่ทำให้เงินไม่พอใช้ แม้จะมีเงินเดือนสูง แต่..มีหนี้บัตรเครดิต เงินกู้ซื้อบ้าน ผ่อนรถยนต์ หรือ หนี้นอกระบบ ล้วนมีดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ซึ่งอาจกินสัดส่วนแบ่งรายได้ไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะถ้ามีหนี้หลายก้อน ยิ่งทำให้แต่ละเดือนเงินไม่พอใช้


4. ปัญหาค่าครองชีพสูง

ปัญหาในเมืองใหญ่ หรือ ย่านหรูที่มีราคาแพง สิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายพื้นฐานอาจสูงมากเช่นกัน เช่น ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าสาธารณูปโภคอาจกินเงินเดือนไปกว่าครึ่ง แม้จะมีเงินเดือนสูง แต่ถ้าอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าครองชีพสูงมากๆ ก็อาจทำให้รู้สึกว่าเงินไม่พอใช้ได้


5. ไลฟ์สไตล์ที่หรูหราของตัวเอง

เมื่อมีรายได้สูงขึ้น หลายคนมักปรับไลฟ์สไตล์ให้หรูหราขึ้นตาม อาจย้ายไปอยู่คอนโดหรู ซื้อรถยนต์ราคาแพง หรือ เที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวระดับพรีเมียม การรักษาระดับการใช้ชีวิตแบบนี้ อาจทำให้แม้จะมีเงินเดือนสูง แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่เพียงพอ ควรสำรวจและปรับไลฟ์สไตล์เพื่อสอดคล้องกับค่าใช้จ่าย



6. ไม่มีการออมเงิน

การใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์ โดยไม่มีการเก็บออมเป็นปัญหาใหญ่ ถึงแม้จะมีรายได้สูง แต่ถ้าใช้หมดทุกเดือน ก็จะไม่มีเงินเก็บสำหรับอนาคต หรือ สำรองเหตุฉุกเฉิน ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางการเงินในระยะยาวได้


7. รายจ่ายที่ไม่คาดฝัน

ในชีวิตของเรา เต็มไปด้วยเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากมาย และควบคุมไม่ได้ เช่น ปัญหาสุขภาพ อุบัติเหตุ หรือ การซ่อมแซมบ้าน และรถยนต์ หากถ้าไม่มีเงินสำรองสำหรับเหตุการณ์เหล่านี้ อาจต้องใช้เงินเดือนทั้งหมดเพื่อดูแล หรืออาจก่อหนี้เพิ่มเป็นปัญหาระยะยาว


8. การดูแลครอบครัวที่เกินกำลัง

ในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมไทย การช่วยเหลือครอบครัวทางการเงินเป็นเรื่องปกติ แต่การส่งเงินดูแลครอบครัวที่มากเกินกำลัง อาจเป็นปัญหาได้ เช่น ส่งเงินให้พ่อแม่ ช่วยเหลือน้องในการเรียน หรือ ดูแลญาติที่กำลังเจ็บป่วย ภาระเหล่านี้อาจทำให้แม้จะมีรายได้สูง แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่เพียงพอ แถมยังรู้สึกกดดันและเครียดตามมาได้


9. ติดพนัน หรือ ชอบเสี่ยงโชค

พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การพนันหรือ ชอบเสี่ยงโชค สามารถทำลายสถานะทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว แม้จะมีรายได้สูงๆ แต่ถ้ามีนิสัยการใช้เงินที่ไม่ดีแบบยนี้ ก็อาจทำให้เงินหมดเร็วกว่าที่คิด ลองถามตัวเองดูว่าคุณกำลังเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ?


ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ต้องอาศัยการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างละเอียด การวางแผนการเงินที่รอบคอบ และการปรับเปลี่ยนนิสัยการใช้เงิน อาจต้องเริ่มจากการทำงบประมาณจดรับจ่าย ตั้งเป้าหมายการออม ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และหาวิธีเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ การศึกษาเรื่องการเงินและการลงทุนก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้บริหารเงินได้ดีขึ้นในระยะยาวอีกด้วย



Comments


bottom of page